กรุสำหรับ กุมภาพันธ์, 2014

รูปภาพ

ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไกลส่งผลให้สื่อการเรียนการสอนมีความทันสมัยมากขึ้น   ครูยุคใหม่จึงต้องรู้จักใช้ยุทธวิธีที่หลากหลายเป็นตัวกลางสำคัญในกระบวนการจัดการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสีสันดึงดูดใจเปิดโลกการเรียนรู้ที่กว้างไกลให้กับผู้เรียนด้วยสื่อการเรียนการสอนสมัยใหม่และต้องคำนึงว่าจะนำมาใช้อย่างไรให้เหมาะสม  ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศหรือการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ทั่วทุกมุมโลกในเวลาอันรวดเร็ว

ในการจัดการเรียนการสอนยุคใหม่นั้น นอกจากครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของแนวคิดหลักแห่งวิชาชีพครูและเนื้อหาสาระวิชาที่สอนแล้วยังจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเครื่องมือที่จะใช้แสวงหาความรู้เพื่อช่วยเติมเต็มความรู้ให้กับผู้เรียนเกิดทักษะ ความรู้ สร้างสรรค์ประสบการณ์  และความสามารถในการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาได้อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนทุกคน  ดังนั้นสื่อการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นสื่อบุคคล วัสดุ อุปกรณ์ ตลอดจนเทคนิควิธีการล้วนเป็นสื่อกลางที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ได้ง่ายและรวดเร็ว  จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งที่จะนำความต้องการของครูผู้สอนไปสู่ผู้เรียน  เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  และที่สำคัญคือครูผู้สอนต้องรู้จักเลือกสรรสื่อการเรียนรู้ที่จะนำไปใช้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ปัจจุบันมีสื่อการเรียนรู้รูปแบบสมัยใหม่มากมายให้เลือกใช้  ดังนั้นครูผู้สอนจะต้องพิจารณาเลือกสื่อการเรียนรู้ที่ดีมีคุณภาพ   เช่น  สื่อที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องที่สอนตรงตามวัตถุประสงค์  เนื้อหาถูกต้อง  ทันสมัย  น่าสนใจ  และส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็กมากที่สุด  ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหานั้น ๆ ได้ดีเป็นลำดับขั้นตอน เหมาะสมกับวัย  ระดับชั้น  ความรู้ และประสบการณ์ของผู้เรียน เป็นสื่อที่มีคุณภาพ  สะดวกไม่ซับซ้อนยุ่งยากจนเกินไป  หรือหากผลิตสื่อการเรียนการสอนเองควรคุ้มกับเวลาและการลงทุน  เป็นต้น   สำหรับสื่อการเรียนรู้ที่มีบทบาทในแวดวงการศึกษาในสังคมยุคข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ เช่น สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  หรือ CAI (Computer Assisted Instruction)เป็นการนำคอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องมือให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง  เป็นลักษณะการนำเสนอที่มีทั้งตัวหนังสือ ภาพกราฟิก ภาพเคลื่อนไหว เพื่อดึงดูดให้ผู้เรียนเกิดความสนใจเรียนรู้มากยิ่งขึ้น  อีกทั้งมีการแสดงผลการเรียนให้ผู้เรียนทราบทันทีด้วยข้อมูลย้อนกลับ  บางครั้งอาจเรียกว่า “บทเรียนสำเร็จรูป”แต่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวกลางแทนสิ่งพิมพ์หรือสื่อประเภทอื่น 

บทเรียนออนไลน์ หรือ E-Leaning  จึงเป็นบทเรียนแห่งการเรียนรู้ที่ถ่ายทอดเนื้อหาสาระผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนด้วยซีดีรอม  การเรียนการสอนบนเว็บ (Web-Based Learning)  การเรียนออนไลน์ (On-line Learning)  การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม  การเรียนด้วยวีดีโอผ่านออนไลน์  เป็นต้น  เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่ผู้เรียนอาจเลือกเรียนตามความสามารถและความสนใจ เป็นวิธีการที่ผู้สอน ผู้เรียน  และเพื่อนร่วมชั้นเรียนสามารถติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ  โดยอาศัยการติดต่อสื่อสารในรูปแบบของ E-mail,Webboard,Chat หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Book  (Electronic Book) เป็นหนังสือที่สร้างขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีลักษณะเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์  โดยปกติมักจะเป็นแฟ้มข้อมูลที่สามารถอ่านเอกสารผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งในระบบออฟไลน์และออนไลน์  เป็นสื่อที่สามารถแทรกภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว แบบทดสอบ  และที่สำคัญคือ E-Book  สามารถปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ไม่สามารถทำได้อย่างง่ายดายในสื่อที่เป็นหนังสือหรือสื่อสิ่งพิมพ์ 

เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับพกพา หรือ Tablet PC ปัจจุบันเริ่มมีหลายประเทศได้นำมาใช้ในแวดวงการศึกษาโดยให้นักเรียนใช้แทนหนังสือในรูปแบบเดิมมากขึ้น  เพราะเห็นว่า Tablet PC สามารถช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดพิมพ์ตำราเรียนได้  Tablet PC สามารถบรรจุหนังสืออิเลคทรอนิคส์ที่ถูกเก็บไว้ในรูปดิจิตอลได้เป็นจำนวนมาก โดยผู้อ่านสามารถเลือกเล่มไหนขึ้นมาอ่านก่อนก็ได้  อีกทั้งสามารถแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาได้ตลอดเวลา  และที่สำคัญ Tablet PC สามารถเชื่อมโยงให้ผู้สอนและผู้เรียนติดต่อสื่อสารกันผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตได้ ช่วยทำให้ข้อจำกัดเรื่องสถานที่ในการเรียนการสอนหมดไป

กระดานอัจฉริยะ หรือ Interactive Board เป็นกระดานระบบสัมผัสที่มีหน้าจอขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เป็นหน้าจอโปรเจคเตอร์คอมพิวเตอร์  ซึ่งสามารถควบคุมโดยการสัมผัสหรือเขียนบนหน้าจอโดยตรงแทนการใช้เมาส์หรือคีย์บอร์ด  สามารถสั่งพิมพ์ บันทึกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ หรือส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ซึ่งได้นำมาใช้ในโรงเรียน แทนกระดานไวท์บอร์ดแบบเดิม กระดานอัจฉริยะเป็นสื่อไฮเทคที่มีประโยชน์มากสำหรับโลกของการศึกษาในปัจจุบัน และอนาคต

ในยุดแห่งโลกการสื่อสารที่ไร้พรหมแดนแบบนี้ต้องยอมรับว่า การมีสื่อการเรียนรู้รูปแบบที่ทันสมัยได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในแวดวงการศึกษา  เป็นสื่อมีชีวิตที่สามารถดึงดูดให้ผู้เรียนสนใจใฝ่เรียนรู้ที่จะนำไปสู่การเปิดโลกการเรียนรู้ที่กว้างไกล  อย่างไรก็ตาม แม้สื่อในรูปแบบใหม่เหล่านี้จะมีประโยชน์ที่จะช่วยเติมเต็มความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ในการเรียนรู้ต่อผู้เรียน  แต่ครูผู้สอนก็ยังคงมีความสำคัญในการชี้นำแนะทางที่ถูกต้องเหมาะสมและต้องเลือกสรรสื่อการเรียนรู้ที่จะเกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด

 

รูปภาพ

      เรื่องราวของการศึกษาในบ้านเมืองเราตอนนี้ เข้าขั้นวิกฤติแล้วไม่ว่าผมจะบรรยายที่ไหนจะไปเจอใคร ต่างก็มึนๆกันกับเรื่องราวของการศึกษาบ้านเรา ทั้งในมหาวิทยาลัย โรงเรียน หรือแม้คนในกระทรวงศึกษาธิการเองก็ตาม  ท่านผู้บริหารการศึกษา ครูบาอาจารย์ ผู้ปกครอง รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาต่างก็รู้สึกว่าการศึกษาบ้านเรานี่มันแปลกๆ

สำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) ซึ่งมีหน้าที่ในการวัดผลการเรียนของนักเรียนทั้งประเทศ ประกาศคะแนนเฉลี่ยในการทดสอบของนักเรียนเราแทบทุกวิชาในแต่ละช่วงชั้นตกต่ำลงมาตลอด ในขณะที่รัฐบาลเราจ่ายเงินลงทุนด้านการศึกษาเพิ่มมาเรื่อยๆจนปีที่แล้วเราทุ่มงบประมาณ ๕ แสนล้านบาท ให้กับการศึกษา จ่ายเงิน มีงบให้มาก แต่วัดผลที่ไรก็เศร้าใจ หรือการศึกษาบ้านเรา ตกต่ำลงเรื่อยๆจริงๆ ไทยเราขอร่วมสอบ PISA ซึ่งเป็นการวัดความรู้ความสามารถของนักเรียนทั้งประเทศในกลุ่มประเทศ OECD

การสอบแบบนี้ดีเพราะเป็นการวัดความรู้ความเข้าใจจริงๆไม่ใช่การสอบแบบท่องจำครับ เนื่องมาจากจุดประสงค์ในการทำนั้นไม่ใช่การจัดทำเพื่อการแข่งขัน แต่เขาจัดทำเพื่อวัดผลและนำผลที่ได้ไปใช้การพัฒนาการศึกษา เพื่อคนในจะได้มีความรู้ความสามารถจริง(ต่างกันกับการสอบฟิสิกส์ คณิต เคมี ชีวะ โอลิมปิก ซึ่งเป็นการสอบแข่งขันกันเป็นรายคน)
              
การสอบ PISA จัดโดยสุ่มให้นักเรียน ม.3 ทั้งประเทศของทุกประเทศที่เข้าร่วมสอบ  ผลคือ ความสามารถในการเรียนรู้ ของนักเรียนเราน้อยมาก ความสามารถในทางคณิตศาสตร์ ต่ำระดับมาก ความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ ต่ำมากๆร่วมสอบมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกก็ต่ำเกือบที่สุดในโลก ครั้งหลังต่ำกว่าเดิม ความสามารถในการเรียนรู้ของเราอยู่ในกลุ่มท้ายๆของโลก หรือเป็นเพราะเราใช้การศึกษาภาคบังคับ คือบังคับให้เด็กเราเรียนเยอะมาก มากกว่าบรรดาชาติต่างๆในโลก
     

     เด็กไทยเราใช้เวลาเรียนในห้องเรียน มากที่สุดในโลกนั่นอาจจะเป็นผลให้ เด็กเราเบื่อการเรียนและหยุดการเรียนรู้เมื่อคิดว่าจบการศึกษา หรือเป็นเพราะเราบังคับเขามากเกินไป ด้วยความเชื่อว่าการฝึกวินัยต้องใช้การบังคับ เราบังคับให้เขาตัดผมเกรียน ร้องเพลงชาติและใส่ชุดลูกเสือ โดยไม่เคยถามหรือสนใจความสมัครใจของเขาเลย นั่นอาจเป็นผลให้เด็กเราขาดวินัย(ในตนเอง) ขาดการฝึกวินัยที่มาจากควบคุมจิตใจของตนเอง นั่นอาจทำให้เด็กของเรา คิด น้อย เพราะเราไม่ได้ฝึกให้เขาคิด แต่ฝึกให้เขาให้เขาทำตาม

        
สถิติต่างๆด้านสังคม น่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเราทำการศึกษา ผิดวิธีมานานแล้ว เด็กไทยท้องในวัยเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย นะครับ เด็กไทยขาดการอดทนอดกลั้น มีความอยากในวัตถุมากขึ้น อดทนน้อยลง และขาดจิตสำนึกในควาเป็นไทย
          
ทุกวันนี้เราจะเห็นปัญหาสังคมมากมายที่มาจากผลของการใช้การศึกษามาเป็นเครื่องมือ ในการแข่งขัน ถึงเวลารึยังที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พ่อแม่และสังคมจีนได้บ่มเพราะฝึกฝนลูกหลานชาวจีนให้ขยัน อดทน และประหยัด เหล่านี้คือการศึกษา

วันนี้จีนกำลังจะก้าวสู้ประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งโลก แซงอเมริกา เพราะอัตราเงินออมของคนจีน สูงถึง 40 % ในขณะที่อัตราเงินออมของอเมริกัน ประมาณ 0%
           
สังคมไทยขาดความรับผิดชอบที่ควรให้การศึกษากับประชาชน เห็นได้จากการที่เรากำลังปลูกฝังให้คนใช้เงินที่ยังไม่มีอยู่ นั่นคือ บัตรเครดิต และเงินกู้ส่วนบุคคล รถยนต์คันแรก ผ่อนไอโฟน ผ่อนท่องเที่ยว ดอกเบี้ย 0% และนั่นอาจทำให้อัตราเงินออมของไทยติดลบ ด้วยนโยบาย”แจกแหลก” นี่เอง เรากำลังปลูกฝั่งให้คนของเรา”รอของแรก” แทนที่จะฝึกให้ทำมาหากิน
          
สิงคโปร์ให้การศึกษากับประชาชนด้วยการฝึกให้คนของเขาเคารพกฎหมาย คนสิงค์โปร์โดยส่วนใหญ่ จึงไม่ฝ่าฝืนกฎระเบียบ และมาโกงภาษี ส่วนคนไทยเรามักชอบฝ่าฝืนกฎ และพยายามใช้เส้นสายเพื่อเอาเปรียบเพื่อนร่วมชาติ คุณธรรมเหล่านี้ไม่ได้รับการบ่มเพาะอย่างจริงจังให้เด็กในบ้านเรา ผู้ปกครองส่วนมากนึกว่าส่งลูกไปโรงเรียนแล้วลูกจะดีเอง โรงเรียนส่วนใหญ่ก็สนใจแต่เรื่องหลักสูตรวิชาการ ผลการสอบวัดความรู้ต่างๆ รวมทั้งผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัย นี่คือ การขาดทิศทางเป้าหมายของการศึกษา
                  เด็กเกาหลีจะถูกปลูกฝั่งให้ค้นคว้าหาความรู่ตั้งยังเด็กมีการพาเด็กๆไปพิพิธภัณฑ์การฺตูน ห้องสมุดการ์ตูน และศูนย์การเรียนรู้ แอนนิเมชั่น นี่คือการศึกษาของเรา     บริษัทใหญ่ๆจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคน อย่างเช่น ซัมซุงให้ความสำหรับต่อการศึกษามาก นอกจากเป็นศูนย์การเรียนรู้แล้ว บริษัทยังให้เงินจำนวนมากแก่มหาวิทยาลัยต่างๆเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและการพัฒนา    องค์กรเอกชนให้ความสำหรับการลงทุนด้านการศึกษา มีบริษัททำแอปพลิเคชั่นด้านการเรียนรู้ มีการพัฒนาหลักสูตรต่างๆและระบบสนับสนุนการเรียนการสอนมากมาย และสิ่งที่ตามมาคือความสำเร็จขอประเทศ คนไทยต้องให้ความสำหรับกับ”อนาคตของชาติ” มากกว่านี้ อย่าปล่อยให้การศึกษาเป็นเพียงเครื่องมือแข่งขัน

          ผู้ปกครอง คงต้องหันมาพัฒนาทักษะในการดำเนินชีวิต (Life skill) ให้ลูก เพราะความสำเร็จของลูกหลานเราจะไม่ยั่งยืนถ้าขาดสิ่งที่มีค่าที่สุดคือความอดทน อดกลั้น  สังคมคงต้องหันมาปลูกฝัง คุณธรรม ให้เยาวชน ธุรกิจมอมเมา หันมาทำ พิพิธภัณฑ์เอกชนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ผมดีใจที่เห็นธุรกิจดีๆช่วยสนับสนุนคุณภาพคนไทย เช่นสนามฟุตบอล สนามแบดมินตัน ทั้งเอกชนและรัฐต้องสนับสนุนกิจการเหล่านี้อย่างจริงจัง ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตรงไปตรงมา เป็นตัวอย่างเยาวชน ครูเข้าสอนตลอดเวลา ผู้รักษาเวลาที่ได้นัดหมายไว้……นี่คือการฝึกวินัย ให้เด็กๆของเรา  การมาสายจนชิน กลายเป็นวัฒนธรรมของเราไปแล้ว เพราะสังคมไม่เห็นความสำคัญ….ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ยิ่งมาสาย …….นี่คือการขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

ถึงเวลารึยังครับที่เราจะเริ่มจัดโรงเรียน”เพื่อผู้เรียน” ทำห้องเรียนให้มีความสุข เลิกเอาคะแนนมาเป็นเครื่องมือบังคับให้เด็กเรียน เลิกต้อนเด็กไปทำกิจกรรมที่เขาไม่อยากทำ หันมาสร้างความรักในงาน ส่งเสริมกิจกรรมดีๆที่เขาอยากทำ ให้มีส่วนในการคิด และฝึกให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและตนเอง

เลิกการสอนแบบท่องจำ แต่มุ่งเน้นให้เขาแสวงหาความรู้ ค้นคว้าและมีความสุขกับการอ่าน การหาข้อมูล เปิดพื้นที่ให้เขาแสดงออก รับฟังและร่วมกันพัฒนาโรงเรียนให้น่าเรียน  การติดสินบน รับสินบน จนจะกลายเป็นวัฒนธรรมของชาติ ต้องโนรังเกลียด เหยียดหยาม
การก้มหัวให้อำนาจ ให้ตำแหน่งต้องหมดไป คนไทยทุกคนต้องมีศักดิ์ศรี ก้มหัวให้ความดีไม่ใช่ตำแหน่งปลอมๆ นี่คือหนึ่งใน”เป้าหมายการศึกษา”ที่สังคมต้องช่วยกัน
          การฝึกให้คนของเรารักชาติ โดยบังคับให้เขาร้องเพลงชาติ คงไม่ได้ผลอะไร ถ้าอยากเห็นเด็กไทยของเราเติบโตมาเป็นคนรักชาติ เราต้องตัวเองก่อนครับ ว่าชาติ รักเราไหม สังคมนี้ทำอะไรดีๆให้เขาบ้างไหม

                 สร้างแหล่งเรียนรู้ เช่น สนามกีฬา ลานศิลปะ พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ ให้มากกว่าศูนย์การค้าสิครับ  สื่อสารมวนชน ทีวี ดาวเทียม สัญญาณต่างๆ ป้ายโฆษณายักษ์ๆ ประชาสัมพันธ์ข่าวดีๆ งานนิทรรศการ ประกวดภาพถ่าย ประกวดร้องเพลง เรื่องดีๆส่งเสริมความดี เรื่องน่าสนใจในบ้านเมืองและต่างประเทศ ต้องมีพื้นที่มากกว่านี้ รับบาลต้องช่วยถ้าจริงใจต่อการพัฒนาการศึกษา ต้องทำให้สื่อดีๆ เอาชนะสื่อที่เน้นให้เด็กของเราเป็นวัตถุนิยม

                  เด็กท้องวัยเรียน เด็กติดเกมส์ โดดเรียน เด็กตีกัน เยาวชนติดยาเสพติด ค้ายา และใช้ความรุนแรง นี่คือปัญหาของสังคม  วันนี้ จะมาโทษโรงเรียน โทษครูฝ่ายเดียวคงไม่ได้   การให้การศึกษาจากนี้ไปต้องเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ และสังคม รัฐบาลต้องจริงใจ ที่จะช่วยเด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ    

 

 

 

รูปภาพ

การเปลี่ยนแปลงของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ที่พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนจำนวนไม่น้อยทั้งด้านการติดต่อสื่อสาร การสืบค้นข้อมูล การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ความบันเทิง ไม่เว้นแม้แต่ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน จนบ่อยครั้งทำให้รู้สึกว่าเราก้าวตามเทคโนโลยีไม่ทันเอาเลยทีเดียว 

จะเห็นได้ชัดเจนว่าเทคโนโลยีสาร สนเทศเข้ามามีบทบาทด้านการศึกษามากขึ้น และมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีใครสามารถหยุดยั้งได้ ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องคิดให้หนักคือ การเรียนรู้ในโลกกว้างจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแนะนำให้เด็กได้เห็นทั้งคุณและโทษ ทำอย่าง ไรที่จะปลูกฝังแนวความคิดหลักการในการใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม 
กับแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต แท็บเล็ต รวมถึงโซเชียลมีเดีย 
ทั้งหลาย 

ปัจจุบันรูปแบบการจัดการเรียนการสอนได้เปลี่ยนแปลงไปมาก นักเรียนไม่ได้เรียนเพียงแค่ในห้องสี่เหลี่ยม ที่มีครูยืนสอนหน้าชั้นหรือเขียนลงกระดานดำ นักเรียนนั่งฟังหรือจดตามที่ครูบอกเช่นในอดีต แต่มีรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย มีสื่อในรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายที่จะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน มีการนำเทคโนโลยีมาบูรณาการกับเนื้อหาสาระทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ในลักษณะดิจิตอล จนในวันนี้เรียกกันว่าเป็น “การศึกษายุคดิจิตอล” ที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อย่างแน่นอน 

แม้จะมีการทักท้วงกันบ่อยครั้งว่าหนังสือเรียนในรูปแบบเดิม ๆ ทำให้เป็นภาระที่เด็กจะต้องแบกหนังสือหนักไปโรงเรียนในแต่ละวัน แม้จะมีการจัดหนังสือเรียนตามตารางสอนแล้วก็ตาม แต่กระเป๋านักเรียนก็ยังหนักหลายกิโลกรัมเลยทีเดียว แต่การเปลี่ยนหนังสือเรียนมาเป็นดิจิตอล ไม่เพียงแค่จะลดภาระการแบกกระเป๋าของนักเรียนเท่านั้น ยังจะช่วยให้ต้นทุนในการผลิตลดลง การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายง่ายและรวด เร็วขึ้น อีกทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่สนุก สนานและท้าทายตามระดับความสามารถ ซึ่งสามารถเลื่อนขั้นไปเรียนรู้ประสบ การณ์ใหม่ได้ตามความต้องการ 

สิ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้นั่นคือ ในอนาคตหนังสือเรียนจะไม่เพียงแค่เป็นรูปเล่มที่นำเสนอด้วยตัวอักษรที่ยัดเยียดไปด้วยเนื้อหาสาระที่เยอะเกินความจำเป็น มีภาพประกอบบ้างซึ่งสามารถสื่อความหมายได้ตรงบ้างไม่ตรงบ้าง มีกิจกรรมท้ายบทเล็กน้อยแต่ไม่ได้เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ หรือการมีส่วนร่วมของนักเรียนมากนักอย่างเช่นปัจจุบัน
เชื่อว่าหนังสือเรียนไทยในอนาคตจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโฉมใหม่เพื่อรองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT อย่างแน่นอน ในเบื้องต้นอาจจะค่อยเป็นค่อยไปจากหนังสือเรียนซึ่งเคยจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มแบบเดิม แต่มีการ ปรับโฉมใหม่ในด้านการนำเสนอเนื้อหาและการออกแบบจัดรูปเล่ม ที่เน้นกระบวนการคิด การแก้ปัญหา มีกิจกรรมหลากหลายที่เน้นการมีส่วนร่วม ท้าทาย ให้นักเรียนใฝ่เรียนรู้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตัวเอง 

จากหนังสือเรียนที่เป็นรูปเล่มก็มีการใส่ “คิวอาร์โค้ด” (QR Code หรือ Quick Respond Code) ลงในหนังสือเรียนที่นำเสนอในรูปแบบใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาครบถ้วนสอดคล้องตามที่หลักสูตรกำหนด ซึ่งเป็นรหัสบาร์โค้ดที่จะเชื่อมโยงไปยังเนื้อหาสาระที่นักเรียนควรได้เรียนรู้เพิ่มเติมอาจจะอยู่ในลักษณะของข้อความป๊อปอัพ (Pop Up) ภาพนิ่ง สไลด์ วิดีโอคลิป หรือลิงก์ไปยังเนื้อหาสาระในเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ผ่านการพิจารณาเลือกสรรมาอย่างถูกต้องเหมาะสม หรืออาจจะเป็นเนื้อหาสาระที่จัดทำขึ้นใหม่และเก็บไว้ในเว็บไซต์หรือฐานข้อมูลของหน่วยงาน เพียงแค่นักเรียนสแกนบาร์โค้ดด้วยกล้องไม่ว่าจะจากแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนก็สามารถเชื่อมโยงไปยังเนื้อหาอื่น ๆ ได้อีกมากมาย โดยไม่จำเป็นต้องไปห้องสมุดเพื่อค้นคว้าหาหนังสืออ่านเพิ่มเติมอีกต่อไป 

จากนั้นก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาหนังสือเรียนในรูปแบบของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book หรือ E-Textbook) ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทั้งแบบออนไลน์และแบบออฟไลน์ ถ้าแบบออนไลน์เป็นการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการถ่ายทอดเนื้อหาที่นำเสนอทั้งข้อความ ภาพนิ่ง เสียง กราฟิก ภาพเคลื่อนไหว ส่วนการเรียนแบบออฟไลน์ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาด้วยการอ่านผ่านอุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบต่าง ๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องอ่านหนังสืออิเล็ก 
ทรอนิกส์ (E-Book Reader) ได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต หนังสืออิเล็กทรอนิกส์มีหลายประเภทและรูปแบบ เช่น PDF ePUB DJVU HTML เป็นต้น 

“Smart Textbook” ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เริ่มใช้ในบางประเทศ ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นหลายประการ เช่น ประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากนักเรียนสามารถซื้อบทเรียนทีละบทหรือเฉพาะบทที่ต้องใช้ นักเรียนเรียนรู้ได้มากขึ้นด้วยลักษณะมัลติมีเดีย เรียนรู้ร่วมกันโดยนักเรียนสามารถค้นหา อภิปราย แสดงความคิดเห็นและลิงก์ถึงกันได้ เป็นต้น จากผลการศึกษาของสหรัฐอเมริกาพบว่า นักเรียนต้องการ Smart Textbook เนื่องจากช่วยให้ประหยัด จ่ายเท่าที่ใช้จริง เป็นการเรียนแบบมีส่วนร่วม (Interactive) ทำให้นักเรียนจดจำข้อมูลได้ง่ายขึ้น รวมถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าการเรียนแบบครูสอนแบบบรรยาย 

แม้ว่าในอนาคตหนังสือเรียนไทยจะปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นรูปเล่มอยู่ในรูปแบบของสื่อดิจิตอลทั้งที่เป็น E-Book, E-Textbook, Smart Textbook และคงจะเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ขอฝากไว้ให้หน่วยงานระดับนโยบายได้พิจารณาไตร่ตรองให้ถ้วนถี่ แม้ว่าการพัฒนาจะเป็นสิ่งที่ดีเสมอก็ตาม แต่เราก็ต้องไม่มองข้ามด้าความพร้อม ความต้องการ ความจำเป็น และบริบทที่แท้จริงของประเทศไทย.